Friday 5 June 2020

"ซีอีโอ ซีพี" ประกาศเป้า 2030 ทุกกลุ่มองค์กรต้องเป็น Zero Waste - Zero Carbon

เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นำทัพกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ประกาศ 2 เป้าหมายท้าทายระดับโลก “Zero Waste” และ “Zero Carbon” ชูบทบาทความรับผิดชอบของภาคเอกชนที่มีต่อสังคมโลกและสิ่งแวดล้อม 






นายศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า ขณะที่เรามองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาของโลกที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือปัญหาเรื่องโลกร้อน และปัญหาเรื่องมลภาวะทั้งในอากาศ ในน้ำ และบนดิน ด้วยเหตุนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงกำหนดทิศทางและเป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 สู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านความยั่งยืน ถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยประกาศ 2 เป้าหมายความยั่งยืนใหม่ที่ท้าทายและต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2030  คือ 1. การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Waste ลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์ 2. การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์


เครือซีพีมุ่งมั่นจะขับเคลื่อน คือ เรื่อง Zero Waste และ Zero Carbon ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะถ้ามนุษย์ไม่ช่วยกันรักษาสมดุลของโลก วันหนึ่งมนุษย์อาจสูญพันธุ์โดยไม่รู้ตัว” ซีอีโอ เครือซีพี กล่าว พร้อมคาดการณ์ว่าในปี 2030 อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส และภายในปี 2050 จะสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน เร่งสร้างการตระหนักรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ และนำมาซึ่งความพยายามรักษาและบำบัดทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่อง “Zero Waste” และ“Zero Carbon” ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญระดับโลก และเป็นความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ปัญหา หากบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ไม่เพียงแต่จะสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่จะทำให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืน ประเทศชาติและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น




ซีอีโอ เครือซีพี มีความเห็นว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบนโลกของเรา ทุกคนสามารถทำได้ โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนที่ยิ่งใหญ่ร้ายแรงนี้ ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปีนี้ จึงสร้างภาพยนตร์สั้นเพื่อรณรงค์ปลุกพลังคนไทยร่วมเปลี่ยนโลก กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด “NO ONE IS TOO SMALL TO MAKE A CHANGE” หรือ “ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้” นำเสนอให้เห็นถึงเรื่องราวของเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง กับ ปลาวาฬที่เกยตื้นตายเพราะขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งเป็นภาพจำที่ทุกคนทั่วโลกเห็นและรับรู้ผ่านข่าวสารมาโดยตลอด แต่เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้ได้นำจินตนาการของตนเองมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยปลาวาฬ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยหวังจะช่วยไม่ให้ปลาวาฬและสัตว์ทะเลอื่นต้องจบชีวิตลงเช่นนี้อีก


“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ จากความคิดและพลังสร้างสรรค์ของเราทุกคน ร่วมกันส่งพลังของคุณออกไป ช่วยกันเปลี่ยนโลกของเราให้ดีขึ้น” 
ซีอีโอ เครือซีพี กล่าว




ภาพยนตร์สั้นเด็กน้อยกับปลาวาฬ #“CP INNOVATION FOR SUSTAINABILITY” มีกำหนดเผยแพร่บนสื่อออนไลน์และเผยแพร่ตามสถานีโทรทัศน์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563 นี้ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เป็นต้นไป เพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติก ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกคนเป็นหนึ่งแรงสำคัญที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ด้วยสำนึกและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและโลกใบนี้ของเราจะสวยงามและปลอดภัยกับทุกสิ่งมีชีวิตตลอดไป


Tuesday 3 December 2019

ฟอร์บส์เอเชียประกาศ Heroes of Philanthropy ยกย่อง 30 ผู้ใจบุญภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก



ฟอร์บส์เอเชียประกาศ Heroes of Philanthropy ประจำปี 2562 ยกย่อง 30 ผู้ใจบุญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มุ่งมั่นทำความดี ช่วยเหลือสังคม โดยบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น มหาเศรษฐี นักธุรกิจ และคนดัง ที่ได้รับการยกย่องนี้ เป็นผู้ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมและความมุ่งมั่นทำงานการกุศลอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการบริจาคทุนทรัพย์ส่วนตัว



หนึ่งในนั้นเป็นคนไทยที่ได้รับการยกย่อง คือ คุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บุตรคนสุดท้องของเจ้าสัวธนินท์และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ ที่สนับสนุนกิจกรรมด้านการช่วยเหลือสังคมมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งเธอได้บริจาค 2ของรายได้กลุ่มบริษัทดีที ให้กับมูลนิธิพุทธรักษา ที่เน้นให้ความช่วยเหลือเยาวชนด้านการศึกษามาตั้งแต่ปี 2545 รวมถึงมูลนิธิดีที แฟมิลีส์ และมูลนิธิ ธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ ที่เธอเป็นประธาน ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมย์ของคุณพ่อกับคุณแม่และครอบครัวเจียรวนนท์ 



คุณทิพพาภรณ์ได้รับรางวัล Heroes Of Philanthropy จาก Forbes Asia ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของมูลนิธิพุทธรักษา เพื่อการศึกษาของเยาวชนมาหลายปี และบริษัทดีทีจีโอที่เธอบริหารอยู่ก็เป็นองค์กรแรกจากประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลระดับโลก World’s Most Ethical Companies 2019

------------------------------------ 

ข่าวจาก forbes.com


Friday 15 November 2019

ครม.เห็นชอบนโยบายเลิกให้ถุงพลาสติก ดีเดย์ปีใหม่นี้ เครือซีพีเดินหน้าขยายผลบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน



เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอใช้กลไกขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติก ในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และ ร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single – Use Plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573




โดยแนวทาง วิธีการที่จะดำเนินการขึ้นอยู่กับห้างร้านที่จะพิจารณาเลือกแนวทางวิธีการที่เหมาะสม แต่ต้องเป็นไปตามหลักการงดให้ถุงพลาสติก รวมทั้งการกำหนดวิธีการปฏิบัติผ่อนผัน การรองรับที่ชัดเจน สำหรับภาชนะหรือถุงบรรจุของร้อน อาหารเปียก เนื้อสัตว์ และผลไม้


ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ปริมาณขยะถุงพลาสติกหูหิ้วลดลง 45,000 ล้านใบต่อปี ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดลง 225,000 ตันต่อปี และหน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 340 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอยในการฝังกลบได้ประมาณ 616 ไร่



ก่อนหน้านี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ได้เดินหน้านโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยจะทำการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งครั้งใหญ่ในทุกกลุ่มธุรกิจ เลิกใช้พลาสติก หันไปใช้วัสดุยั่งยืนแทน ตามหลักการ ‘5Rs’ คือ การสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้บริโภคลดการสร้างของเสีย (Re-educate), การลดใช้พลาสติก (Reduce), การรีไซเคิลพลาสติก (Recycle), การใช้วัสดุทดแทน (Replace) และการค้นคว้าวิจัยและนวัตกรรม (Reinvent)


นำโดย ซีพีเอฟ หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่พัฒนาการออกแบบและการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ตั้งเป้าไว้ว่า บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) ใช้ใหม่ (Recyclable) ผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) และจะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นภายในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย และปี 2573 สำหรับกิจการในต่างประเทศ



ซีพีเอฟได้ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำถาดบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ PLA (Polylactic acid) ซึ่งเป็นถาดอาหารชีวภาพที่ผลิตจากพืช (Renewable resource) และสามารถย่อยสลายได้ 100% ทดแทนการใช้ถาดพลาสติกใส PET (Polyethylene terephthalate) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียมและไม่สามารถย่อยสลายเองได้ทางชีวภาพ กับสินค้ากลุ่มหมูสดและไก่สดแช่เย็น เป็นรายแรกของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 และล่าสุดบริษัท Tops Foods ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซีพีเอฟในเบลเยี่ยม ได้วัสดุที่ทำจากเยื่อไม้สนย่อยสลายได้มาใช้กับบรรจุภัณฑ์ของวีแกนลาซานญ่า แบรนด์ PURE


นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามจัดหาบรรจุภัณฑ์ ที่มีการนำวัสดุรีไซเคิล (Recycled Material) มาใช้ในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง (Secondary Packaging) หรือใช้สำหรับการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งมีสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลอยู่ที่ร้อยละ 70-100 และในธุรกิจอื่นๆของบริษัทซีพีเอฟ เช่น ร้าน Star Coffee ก็ได้หันมาใช้วัสดุที่ยั่งยืนทดแทนการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยาก เช่น แก้วและหลอดที่ทำจากไบโอพลาสติกผลิตจากพืช ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 100%



ด้าน 7-11 ภายใต้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ประสบความสำเร็จกับโครงการ “7 Go Green” ในการลดเลิกการใช้พลาสติก ใน 4 ระยะ คือ 1. ลดการใช้ถุงพลาสติก 2. ร้านประหยัดพลังงาน 3. Green Logistic และ 4. Green Product (สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)


โดยโครงการ ลดวันละถุง คุณทำได้’ ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง เมื่อลูกค้าปฏิเสธการรับถุง 1 ครั้ง เซเว่นฯ จะเปลี่ยนเป็นเงินบริจาค 20 สตางค์ ซึ่งรวบรวมเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ มอบให้อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราช




นอกจากนี้ ซีพี ออลล์ ยังได้ร่วมกับเครือเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาวเคมิคอล ประเทศไทย ในโครงการ 7 Go Green Recycled Plastic Road เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นถนน นำร่องพื้นที่ลานจอดรถหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาสายไหม เป็นสาขาต้นแบบ




สำหรับ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของทรูคอฟฟี่แบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยระบบการจัดซื้อจัดจ้างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดใช้พลาสติกทุกเมนู เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติก (PLA) จนถึงการคัดแยกขยะที่ถูกต้องเหมาะสม




นอกจากนี้ยังเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์ขวดน้ำดื่มพลาสติกเป็นกล่องน้ำกระดาษ True Coffee ขนาด 330 มิลลิลิตร โดยจะนำร่องวางจำหน่ายให้บริการแก่ลูกค้า ณ ร้านทรูคอฟฟี่ 15 สาขา ก่อนขยายทุกสาขาทั่วประเทศต่อไป




เครือเจริญโภคภัณฑ์กำลังเร่งขยายผลนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ตามหลักการ ‘5Rs’ ไปยังหน่วยธุรกิจอื่น ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 




********************** 


Friday 28 April 2017

FameLab แข่งขันเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจง่าย



วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ล้วนเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ และสามารถสร้างความแปลกใหม่ให้กับโลก แต่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก อธิบายยาก เครียด ไม่สนุก 


จริง ๆ แล้ว วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา แม้แต่ในร่างกายหรือลมหายใจของเราก็ยังเป็นวิทยาศาสตร์

ยังไงล่ะ นั่นน่ะซิ่ มันพูดยาก อธิบายยากจริง ๆ 

ด้วยเหตุนี้ล่ะมั้ง บริติชเคาน์ซิล จึงได้จัดโครงการ FameLab เพื่อแข่งขันการบอกเล่าเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ให้ง่าย ชัดเจน ถูกต้อง กระชับและได้ใจความ ภายใน 3 -7 นาที 





โครงการ FameLab นี้เป็นการแข่งขันประจำปี จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จำนวนมาก แต่ที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มแข่งขันกันเมื่อปี 2559 โดยบริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)


ผู้ที่มีอายุ 18-40 ปี ที่มีความสามารถในการสื่อสารหรือการนำเสนอโครงการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ได้อย่างน่าสนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันในโครงการนี้ เพื่อลุ้นเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก Cheltenham Science Festival ณ สหราชอาณาจักร พร้อมรับรางวัลเงินทุนเพื่อสนับสนุนการสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์ และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย


ใครสนใจก็หารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ FameLab ได้ทางเว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th/famelab


*************************** 

#FameLab #แข่งขันนำเสนอด้านวิทยาศาสตร์ #เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ #โครงการสร้างสรรค์ #บริติชเคาน์ซิล #สังคมคุณภาพ #สังคมยั่งยืน #ชุมชนยั่งยืน #ความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน #ทรู #โครงการซีพี...เพื่อความยั่งยืน #ซีพีเพื่อความยั่งยืน

เครื่องเล่นให้น้อง



ความสุขในการไปโรงเรียนของเด็ก ๆ อย่างหนึ่งก็คือ การได้ไปเจอเพื่อนแล้วมีเวลาพักไปเล่นด้วยกัน ดังนั้น สิ่งที่โรงเรียนอนุบาลและประถมจะขาดเสียไม่ได้เลยก็คือ สนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นต่าง ๆ ไว้ให้ปีนป่าย



แต่ถ้ามีสนามเด็กเล่น มีเครื่องเล่น แต่เครื่องเล่นชำรุดเสียหายล่ะก็ โลกของเด็ก ๆ ก็ดูจะหมองหม่นไปเลยทีเดียว และอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เด็ก ๆ ไม่สนุกกับการไปโรงเรียน 


ที่โรงเรียนวัดอู่ตะเภา เขตหนองจอก ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน เด็ก ๆ ไม่ค่อยอยากไปโรงเรียน เพราะเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นของโรงเรียนมีสภาพเก่า ชำรุด และไม่ปลอดภัย แถมยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับปริมาณของนักเรียนอีกด้วย ทางโรงเรียนจึงปิดสนามเด็กเล่นไว้ชั่วคราว


แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่ หรืออาจจะเป็นเพราะโรงเรียนแห่งนี้ มีลูกหลานของพนักงานโรงงานอาหารสำเร็จรูปซีพีเอฟหนองจอก เรียนอยู่ จึงได้เห็นปัญหาและนำไปคุยกับเพื่อนพนักงานด้วยกัน จนมีความคิดที่จะเข้ามาช่วยซ่อมแซมเครื่องเล่น พร้อมกับหาเครื่องเล่นใหม่ ๆ มาให้เด็ก ๆ ได้มีชีวิตชีวากลับมาอีกครั้ง


ทั้งผู้บริหารและพนักงานของโรงงานซีพีเอฟหนองจอก จึงร่วมกันปรับปรุงเครื่องเล่นและสนามเด็กเล่นของโรงเรียนวัดอู่ตะเภาให้มีสภาพดี พร้อมใช้งาน และหาเครื่องเล่นใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมให้ 


แถมกิจกรรมนี้ ทางโรงเรียนยังให้เด็ก ๆ อาสามาช่วยกันทาสี และลงมือซ่อมเครื่องเล่นเองเท่าที่ทำได้ เด็ก ๆ จึงได้ทั้งความสนุก และเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ซึ่งนับว่าเป็นการปลูกฝังนิสัยความเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน และการทำงานเพื่อสังคมไว้ในใจเด็ก ๆ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพที่ยั่งยืนได้ต่อไปอีกด้วย










*************************** 

#เครื่องเล่นให้น้อง #ความสุขของเด็ก #สนามเด็กเล่น #สังคมยั่งยืน #ชุมชนยั่งยืน #ซีพีเอฟ #ซีพีเอฟหนองจอก #โครงการซีพี...เพื่อความยั่งยืน #ซีพีเพื่อความยั่งยืน